วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

บรอมีเลียด (Bromeliad, สับปะรดประดับ)

บรอมีเลียด (Bromeliad, สับปะรดประดับ)
มีหลายสกุล แต่ที่สำคัญและพบในตลาดค้าไม้ดอกไม้ประดับในกรุงเทพฯ
ได้แก่ สกุล Neoregelia, Aechmea, Billbergia, Dyckia,
Guzmania, Vriesea และ Tillandsia
สำหรับสับปะรดในสกุล Ananus หลายชนิดเป็นที่รู้จัก
ทั้งที่เป็นไม้ผลและไม้ประดับสวน โดยประเทศไทยเป็นแหล่ง
ผลิตสับปะรดที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก สับปะรดจึงเป็น
ไม้ผลเศรษฐกิจ ที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ผลิตส่งออก
และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
บรอมีเลียดในแง่การปรับตัวทางนิเวศวิทยา

บรอมีเลียดมีทั้งที่เป็นพืชอิงอาศัยตามกิ่งก้านต้นไม้ หรือหน้าผาหิน
และขึ้นอยู่บนพื้นดินพื้นทราย ชายทะเล ทะเลทราย ป่าชายเลน
และพื้นที่สูง เช่น Puya raimondii
ขึ้นอยู่ที่ระดับความสูง 4,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
ในประเทศเปรู สัณฐานวิทยาและสรีรวิทยาจึงมีความสำคัญ
ในการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้มีการจำแนก
ลักษณะของบรอมีเลียดตามนิเวศวิทยาออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้คือ
กลุ่มที่ 1 Soil-root ระบบรากทำหน้าที่ดูดน้ำ และธาตุอาหาร
จากพื้นดิน เป็นบรอมีเลียดจำพวกพืชบนดินทนแล้ง
(Terrestrial xeric bromeliads) พบตามพื้นดินทราย
ตามแนวป่าใกล้ทะเล เป็นพืชทนแล้ง เช่น สกุล Pitcairnia
และ Dyckia กาบใบไม่แผ่แบน จึงไม่สามารถขังน้ำไว้บนยอดได้
เกล็ดบริเวณใบไม่มีหน้าที่ในการดูดซับความชื้น ส่วนใหญ่
อยู่ในวงศ์ย่อย Pitcairnioideae และบางชนิดเป็นพืชทนแล้ง
อยู่บนที่สูง จะมีเกล็ดจำนวนมากปกคลุมบริเวณใบ
ช่วยป้องกันการคายน้ำ ในสภาพที่ได้รับแสงแดดมากเกินไป
และช่วยสะท้อนแสง การศึกษาการกระจายพันธุ์ของ
Terrestrial bromeliad บริเวณ Caranavi road
ในประเทศ Bolivia พบว่ามีบรอมีเลียดหลายสกุลเช่น Puya,
Pitcairnia และ Fosterella โดยมีการกระจายพันธุ์
ที่ระดับความสูงต่างๆ
กลุ่มที่ 2 Tank-root (Prototank) กาบใบแผ่เรียงกัน
ลักษณะคล้ายกรวย บรอมีเลียดกลุ่มนี้มีการเรียงตัวของใบแบบ
rosette สามารถกักเก็บน้ำได้ช่วงสั้นเนื่องจาก กาบใบแผ่ออกไม่มาก
ทำให้ส่วนที่กักเก็บน้ำ (tank) มีขนาดเล็ก ระบบรากมีการพัฒนาดี
เจริญอยู่ระหว่างโคนใบที่ซ้อนกัน กลุ่มนี้ส่วนมากอยู่ในวงศ์ย่อย
Bromelioideae ที่ขึ้นบนพื้นดิน มีความสัมพันธ์ระหว่างระบบราก
ที่ลดหน้าที่ลงและมีการพัฒนาเกิดลักษณะของ tank (Luttge,
1989) trichome บริเวณใบไม่ช่วยดูดน้ำและธาตุอาหาร
เช่นสกุล Ananus, Bromelia, Cryptanthus และ
Orthophytum เริ่มมีวิวัฒนาการไปสู่พืชอิงอาศัย
ในระยะเริ่มเกิดลักษณะ tank
กลุ่มที่ 3 Tank-dependent (Tank-absorbing trichome)
กาบใบแผ่กว้างกักเก็บน้ำและอินทรีย์วัตถุได้ระยะเวลานาน
และระบบรากลดหน้าที่ บรอมีเลียดกลุ่มนี้ต้องการความชื้น
จัดเป็น True tank เป็นพืชอิงอาศัย บางชนิดขึ้นอยู่บริเวณผาหิน
รากไม่ได้ทำหน้าที่หลักในการดูดน้ำและธาตุอาหารแต่จะใช้ยึดเกาะ
trichome ที่ผิวใบสามารถดูดน้ำและธาตุอาหารได้ และกลุ่มนี้
มีจำนวนมากที่สุดใน 4 กลุ่ม อยู่ในวงศ์ย่อย Tillandsioideae
เช่น สกุล Vriesea และพืชอิงอาศัยในวงศ์ย่อย Bromelioideae
ทั้งหมด เช่น สกุล Aechmea และ Neoregelia (Smith, 1989)
กลุ่มที่ 4 Atmospheric-absorbing trichome
ระบบรากพัฒนาไม่มาก trichome ทำหน้าที่ดูดน้ำและความชื้น
ในอากาศ บรอมีเลียดในกลุ่มนี้เป็นพืชอากาศแท้ (Epiphytic
atmospheric type, True air plant, Xeric type) บางชนิด
มีราก 2-3 เส้น สำหรับยึดเกาะกิ่งไม้หรือผาหิน โดยไม่ทำหน้าที่
ดูดอาหาร (จารุพันธ์, 2537) tank มีการพัฒนาน้อยมาก
จึงไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ (Leme and Marigo, 1993)
ขอบใบเรียบ ใบปกคลุมด้วย trichome ทำหน้าที่ดูดน้ำ
และความชื้นในอากาศ พบเฉพาะสกุล Tillandsia และ Vriesea
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Tillandsia usneoides หรือมอสสเปน
มีขนสีเทาเงินปกคลุม ทำหน้าที่ดูดน้ำและความชื้น
ระบบรากไม่สมบูรณ์ ปลายยอดถูกลดขนาด และแยกออก
เป็นลำต้นสั้นๆ ต่อกันเป็นสายยาว และยังมีการใช้ trichome
เป็นเครื่องมือช่วยในการจำแนกทางอนุกรมวิธานด้วย ซึ่งโดยปกติ
จะใช้ลักษณะรูปร่างของใบ โครงสร้างดอก รูปแบบช่อดอก
และลักษณะของเมล็ด
ขนที่ปกคลุมต้นหรือใบของพืชวงศ์ Bromeliaceae เรียกว่า trichome
ประกอบด้วย stalk และ shield ซึ่งมีความซับซ้อนแตกต่างกัน
ในแต่ละ subfamily ในสกุล Tillandsia จะมีความซับซ้อนมากที่สุด
และสามารถจำแนกชนิดได้จากจำนวน stalk cell และ
wing cell โดยทำการตัดส่วนกลางของใบขนาด 5 ตารางมิลลิเมตร
มาศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์
บรอมีเลียดในแง่ของวิวัฒนาการสืบเผ่าพันธุ์

บรอมีเลียดส่วนใหญ่มีใบประดับที่ก้านช่อดอก ดอกย่อย และผล
ซึ่งมีสีฉูดฉาด ละอองเกสรเพศผู้ (pollen) สีเหลืองเข้มและเหนียว
เป็นตัวล่อให้นก ผีเสื้อกลางคืน ผีเสื้อกลางวันและผึ้ง มาช่วยผสมพันธุ์
ส่วนใหญ่ถูกผสมเกสรโดยนก ที่อเมริกาใต้มีนกฮัมมิ่งเบิร์ด
ช่วยผสมเกสร โดยสอดจะงอยปากยาวโค้งลงไปในดอก
ทำให้การผสมเกสรเกิดในช่วงนี้ ละอองเกสรเพศผู้สีเหลือง
จะติดตามโคนจะงอยปาก ดอกส่วนใหญ่มีเกสรเพศผู้
ที่พร้อมผสมก่อนเกสรเพศเมีย นกและแมลงช่วยในการถ่ายละออง
เกสรเพศผู้จากดอกหนึ่ง ไปยังต้นที่มีเกสรเพศเมียพร้อมผสม
ทำให้เกิดการผสมข้ามได้ในธรรมชาติ และมีบรอมีเลียดหลายชนิด
ที่ผสมตัวเองได้ในดอกเดียวกัน เช่น สกุล Aechmea, Guzmania
และ Vriesea splendens ซึ่งมีอับละอองเกสรเพศผู้ อยู่เหนือ
ยอดเกสรเพศเมีย ถ้าไม่เกิดการผสมข้ามขึ้นก่อน
ยอดเกสรเพศเมียจะเจริญสูงขึ้น จนแตะกับละอองเกสรเพศผู้
ที่แตกและปล่อยละอองเกสรออกมา ทำให้เกิดการผสมตัวเองได
เกร็ดความรู้
สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเก็บรักษาละอองเกสรเพศผู้
เพื่อใช้ในการผสมเกสรเพื่อการปรับปรุงพันธุ์
หลักสำคัญคือ เก็บในที่เย็นและแห้ง ควรมีความชื้นสัมพัทธ์
10-50 % อุณหภูมิ 0-10 องศาเซลเซียส โดยห่อละอองเกสรเพศผู้
ไว้ในกระดาษที่สะอาด และเก็บไว้ในตู้เย็น 1-2 วัน
ละอองเกสรเพศผู้จะยังมีชีวิตอยู่ แต่ในสภาพเช่นนี้อาจเกิดราขึ้นได้
หากต้องการเก็บไว้ระยะเวลานานกว่านี้ต้องเก็บในสภาพแห้งใน
desiccator และใส่สารดูดความชื้น

เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ปริญญาโท
โดยวัชรินทร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น